ข่าวประชาสัมพันธ์

  1. หน้าหลัก
  2. »
  3. ข่าวประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. รางวัลและประกาศเกียรติคุณ
  6. »
  7. ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567

ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567

ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรัตน์ เลาห์บุตรี
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
.
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรัตน์ เลาห์บุตรี เป็นนักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญงานวิจัย ตั้งแต่การสังเคราะห์และดัดแปรอินทรีย์และอนินทรีย์ให้ได้วัสดุที่มีสมบัติเชิงหน้าที่ที่ผ่านการพิสูจน์เอกลักษณ์ทางเคมีและทางกายภาพ สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นชิ้นงานต้นแบบ โดยกิจกรรมวิจัยที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่เป้าหมายของการวิจัยเพื่อให้ได้วัสดุเฉพาะทางขั้นสูง ได้แก่ ประเภทที่ 1 วัสดุล้ำสมัย เช่น วัสดุเปล่งแสงและเรืองแสงในที่มืด วัสดุแม่เหล็ก วัสดุนำไฟฟ้า ประเภทที่ 2 วัสดุสำหรับวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ไฮโดรเจล แผ่นยางที่มีสมบัติต้านเชื้อจุลชีพ หรือวัสดุทางการแพทย์ ประเภทที่ 3 วัสดุพลังงาน เช่น วัสดุไฮบริดไดอิเล็กทริก แผ่นอิเล็กโทรไลต์สำหรับเซลล์เชื้อเพลิง ของแข็งตัวเร่งปฏิกิริยารีฟอร์มมิ่ง และประเภทที่ 4 วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง และวัสดุจับไอออน เป็นต้น
.
งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อภิรัตน์ เลาห์บุตรี เป็นการสร้างงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดจากองค์ความรู้ของหน่วยวิจัยที่ผ่านมาในอดีตให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ทันกับยุคสมัยปัจจุบัน ดังผลงานวิจัยที่เป็นการนำเอาองค์ความรู้ในการเตรียมผงเซรามิกส์ด้วยวิธีการที่พัฒนาจากหน่วยวิจัยให้ได้ผงเซรามิกแม่เหล็ก หรือผงเปล่งแสงที่สามารถใช้เป็นสารเติมแต่งเซรามิกเรืองแสงสำหรับเตรียมเส้นพอลิเมอร์ชีวภาพเชิงประกอบที่ใช้ได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ รวมถึงผงเซรามิกที่มีใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยารีฟอร์มมิ่ง หรือผลงานวิจัยในการพัฒนาสารรีดิวซ์ไอออนเงินชนิดใหม่จากเบนซอกซาซีนในการเตรียมนาโนเงิน ส่งผลทำให้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาต่อยอดเป็นวิธีการการเคลือบนาโนเงินลงบนพื้นผิวของวัสดุ เช่น ผงดินเหนียว ผงเขม่าดำ ผงไทเทเนียมไดออกไซด์ รวมถึงพอลิเมอร์ ทำให้สามารถนำวัสดุเหล่านี้มาใช้เป็นสารเติมแต่งในการเตรียมวัสดุเชิงประกอบในรูปของแผ่นฟิล์มเชิงประกอบที่มีสมบัติไดอิเล็กตริก แผ่นยางต้านจุลชีพ เส้นใยสีทองและผืนผ้า เป็นต้น องค์ความรู้จากการวิจัยนี้ทำให้เกิดเป็นต้นแบบวิธีการเตรียมสารเติมแต่ง สูตรในการเตรียมวัสดุเชิงประกอบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งสามารถนำไปจดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปของสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรอีกด้วย
.
ในด้านการสอน รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรัตน์ เลาห์บุตรี ได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียน การสอน และการวิจัย มาถ่ายทอดให้กับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน ในรูปแบบของตำราเรียน “หลักเคมีสำหรับวัสดุอินทรีย์” ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยให้นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ นักเรียน และผู้สนใจ สามารถเข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีการรวบรวมผลงานวิจัยเกี่ยวกับเบนซอกซาซีนมาถ่ายทอดเป็นบทความในหนังสือตำราต่างประเทศเพื่อให้เกิดการเผยแพร่งานวิจัยสู่ระดับสากลอีกด้วย
.
ด้วยผลงานความเชี่ยวชาญดังกล่าว ทำให้รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรัตน์ เลาห์บุตรี เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการจัดลำดับเป็นนักวิทยาศาสตร์แห่งเอเชีย สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2564 Asia Scientist and University Engineering & Technology Ranking 2021 จากการจัดลำดับโดยฐานการคำนวณของ Google Scholar นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์อภิรัตน์ เลาห์บุตรี ยังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำโครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ด้วยความมุ่งหวังให้เด็กนักเรียนไทยมีความรักและเข้าใจพื้นฐานของวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ค้นหาข่าว

ข่าวเก่า

  • Archives

    • [—]2025 (2)
    • [+]2024 (112)
    • [+]2023 (54)
    • [+]2022 (26)
    • [+]2021 (1)
  • ข่าวที่น่าสนใจ

    468603818_1077892937462572_3231645011561919456_n
    468571476_1077893364129196_8490238550780314137_n
    ยินดีอ-วรวัชร-01
    467974794_1073108361274363_7736459967116955161_n