



[นิสิตวิศวกรรมวัสดุ เยี่ยมชม บ. จรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน)]
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2568 ผศ.ดร.กฤษฎา สุรวัฒนวิเศษ และ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ ชั้นปีที่ 3 ได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตสายไฟฟ้าแรงดันต่ำ กลาง สูง ที่ บริษัท จรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิล จำกัด (มหาชน)
บ. จรุงไทยฯ มีกระบวนการผลิตสายเคเบิ้ล ที่ครบถ้วน ตั้งแต่ โรงหลอมโลหะทองแดงหรืออะลูมิเนียมที่เป็นตัวนำไฟฟ้าหลัก ต่อด้วยกระบวนการรีดเส้นและพันเกลียวลวดตัวนำไฟฟ้า เพื่อนำเกลียวเส้นตัวนำไฟฟ้าไปเข้ากระบวนการฉีดพลาสติกหุ้มด้วยวัสดุฉนวนไฟฟ้า (เช่น XLPE, PVC) ภายใต้การลำเลียงเม็ดพลาสติกภายในห้องคลีนรูม และตามด้วยกระบวนการคลุมสายไฟฟ้าด้วยตัวคลุมพลาสติกเพื่อป้องกันการกระแทกและความชื้น
นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีห้องทดสอบมาตรฐาน ที่หลากหลาย ทั้ง ระบบทดสอบไฟฟ้าแรงสูง การทดสอบสมบัติทางไฟฟ้าของวัสดุ สมบัติการลามไฟ และสมบัติการทนต่อสารเคมีของสายไฟฟ้า ซึ่งเป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้านวัสดุ
นิสิตภาควิชาฯ ได้รับความรู้อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งด้าน กระบวนการผลิตทั้งการหลอม การรีดเส้น และการฉีดพลาสติก รวมไปถึง การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานด้วยกระบวนการวิเคราะห์สมบัติที่เกี่ยวข้อง
ทางภาควิชาฯ ขอขอบคุณ บ.จรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการเข้าเยี่ยมชมครั้งนี้