วัน #วาเลนไทน์ นี้ ภาควิชาขอเสนอสกู๊ปพิเศษ คู่พี่ศิษย์เก่า Mat-E KU ที่ได้พบกันที่ภาค และสร้างครอบครัวด้วยกันอย่างอบอุ่น
พี่วาริยา (พี่ลี่) และ พี่สกานต์ (พี่เติร์ด) เรียนปีเดียวกัน รุ่น Mat-E11, E64, KU68 หลังสำเร็จการศึกษาพี่ลี่และพี่เติร์ดแต่งงานกัน ปัจจุบัน มี น้องณิชา ลูกสาวที่น่ารัก วัย 3 ขวบ 4 เดือน เป็นสมาชิกตัวน้อยของครอบครัววัสดุ
ปัจจุบัน พี่ลี่และพี่เติร์ดทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งคู่ โดยพี่ลี่ทำงานตำแหน่ง Materials Engineering, Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing Company (TDEM) และ พี่เติร์ดทำงานตำแหน่ง Purchasing and Prototyping Engineer, Honda R&D South East Asia
สมัยเรียน ทั้งคู่ก็ไม่ได้ตัวติดกันนะ แต่ละคนก็จะมีกลุ่มเพื่อนสนิทของตัวเอง แถมยังทำโปรเจคกันคนละขั้ววัสดุศาสตร์ พี่ลี่ทำโปรเจคด้านพอลิเมอร์และวัสดุเชิงเคมี (หัวข้อวิจัยจาก บ.ปตท จำกัด (มหาชน)) ในขณะที่พี่เติร์ดทำโปรเจคด้าน โลหะวิทยาการเชื่อม (หัวข้อวิจัยจากกรมอู่ทหารเรือ)
สุดท้าย หนุ่มโลหะเชิงกล ก็เอาชนะใจ สาววัสดุเคมี ได้สำเร็จ และตั้งใจเรียนกันจนจบเกียรตินิยมกันทั้งคู่ และได้ทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทยานยนต์ เครือ Toyota และ Honda ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา (น้องณิชาโตมาคงเลือกยี่ห้อรถไม่ถูกเลยทีเดียว)
เรามาอ่านบทสัมภาษณ์ พี่ลี่ & พี่เติร์ด กันได้เลยครับ
##############################
#Mat_E_KU : สวัสดีครับ ทั้งสองคนเจอกันตอนไหน แล้วใครปิ๊งใครก่อนครับ
เป็นเพื่อนกันตั้งแต่ปีหนึ่ง แต่มาคบกันตอนประมาณปีสาม สกานต์เป็นคนจีบก่อนค่ะ
#Mat_E_KU : ประทับใจอะไรกันและกันอย่างไรครับ
ใจดี มีน้ำใจ เป็นผู้ใหญ่ คอยแนะนำแต่สิ่งดีๆ
#Mat_E_KU : หลังจากจบแล้ว ต่างคนต่างทำอะไรกัน แล้วตัดสินใจแต่งงานกันตอนไหนครับ
หลังจากจบแล้ว ทั้งสองคนก้อได้งานเลยค่ะ หลังจากนั้นอีกสามปีก้อแต่งงานกันเลย
#Mat_E_KU: ปัจจุบัน ทั้งคู่ทำงานตำแหน่งอะไรกันอยู่ครับ
พี่ลี่ : Material engineering, Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing Company (TDEM)
พี่เติร์ด : Purchasing and Prototyping engineer, Honda R&D South East Asia
#Mat_E_KU : สายงาน ทำเกี่ยวกับอะไร รับผิดชอบด้านไหนครับ
พี่ลี่ : ทำอยู่สองงานค่ะ 1. การจัดการสารเคมีในผลิตภัณฑ์ 2. วิจัยและพัฒนาสีที่ใช้ในรถยนต์ (#Mat_E_KU : ไม่เสียแรงที่ทำโปรเจคสายวัสดุเชิงเคมีตอนป.ตรี ที่น่าจะเป็นพื้นฐานที่ช่วยงานด้านสารเคมีและสีเลยครับ)
พี่เติร์ด : 1.จัดซื้อชิ้นส่วนเพื่อนำมาประกอบเป็นรถจักรยานยนต์ต้นแบบสำหรับการทดสอบ 2.สะท้อนปัญหาของการออกแบบเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการ Mass Production
#Mat_E_KU : ความรู้ที่เรียนใช้ประโยชน์ในสายงานอะไรบ้างครับ
พี่ลี่ : ในส่วนงานที่สามารถเอาความรู้ด้านวัสดุศาสตร์มาต่อยอดได้ เช่น การจำแนกคุณลักษณะวัสดุ ด้วยเครี่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง Advanced Materials Characterization and Evaluation เช่น พวกเครื่อง SEM, FTIR, Tensile, etc. ค่ะ
พี่เติร์ด : ที่ใช้เยอะสุด คือ
Materials Selection : ใช้เลือกวัสดุหรือ กระบวนการผลิตที่จะนำมาผลิตชิ้นส่วนต้นแบบ ให้มีความใกล้เคียงกับชิ้นงาน Mass Production มากที่สุด
Welding : ใช้ความรู้ด้านทฤษฎีการเชื่อมในการวิเคราะห์ Drawing แล้วคาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางปัองกันหรือแก้ไข
#Mat_E_KU : มีอะไรที่อยากแนะนำน้องๆบ้าง หากสนใจในสายงานที่ทำอยู่
น้องที่สนใจสายงานบริษัทยานยนต์ ควรศึกษาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์มาบ้าง เพื่อสามารถทำงานร่วมกันคนอื่นได้ง่ายมากขึ้น
#Mat_E_KU : สิ่งที่เราสองคนได้จากการเรียนที่ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ
สิ่งที่คนเรียนจบวิศวกรรมวัสดุมีความโดดเด่นกว่าภาควิชาอื่นคือ #ความเข้าใจความแตกต่างของแต่ละวัสดุ และสามารถอธิบาย #สมบัติวัสดุ ได้ดีกว่าคนที่จบจากภาคอื่น เช่น เข้าใจว่าเหล็กแต่ละเกรดเหมาะสมกับการนำไปใช้อะไร ถ้าไม่มีเกรดนี้เกรดอะไรพอใช้ทดแทนได้ โดยพิจารณาจากอะไร เป็นต้น
###################
ขอบคุณพี่ลี่และพี่เติร์ดมากครับที่แบ่งปันประสบการณ์ทำงานของวิศวกรรมวัสดุ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังแชร์ภาพครอบครัวที่น่ารักมาให้ชื่นชม
จะเห็นว่าแม้จะทำงานในสายยานยนต์ทั้งคู่ แต่สายงานความรับผิดชอบของพี่ลี่กับพี่เติร์ด ก็มีความเฉพาะตัวต่างกัน ที่แน่นอน ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ มก. ของเรา สร้างหลักสูตรที่เอื้อให้บัณฑิตสามารถต่อยอดในสายงานอุตสาหกรรมที่หลากหลายได้อย่างแท้จริง
ตามที่พี่ทั้งสองคนแนะนำ หากใครสนใจอยากทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ทางเครื่องยนต์ ผ่านประสบการณ์กิจกรรมที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. เราจัดสรรให้ เช่น ทีม Dongtan Racing Club ของทางเครื่องกล ที่เปิดโอกาสให้นิสิตทุกภาควิชาฯเข้าไปเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของทีม หรือ กิจกรรมอบรมการเขียนแบบและวิเคราะห์เชิงวิศวกรรม การฝึกงานภาคฤดูร้อน ที่มีอยู่ในหลักสูตร รวมไปถึงมีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่องในคณะฯ เพื่อให้นิสิตพัฒนาทักษะวิศวกรรมที่ทันสมัย เท่าทันยุค Digital Transformation เมื่อผนวกกับความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ล้ำสมัย ก็จะช่วยให้สามารถประยุกต์ทำงานในสายวิศวกรรมที่หลากหลายได้ และสามารถเป็น วิศวกรรมวัสดุพร้อมบวก ที่สามารถทำงานร่วมกับวิศวกรหลากหลายสาขาได้เป็นอย่างดี แบบที่พี่ลี่พี่เติร์ด ได้แนะนำมาครับ