เรามาเกาะกระแส Digital Transformation กับ วิศวกรรมวัสดุ ในวงการอุตสาหกรรม “ไมโครอิเล็กทรอนิกส์” และ “เซมิคอนดักเตอร์” ที่ถือเป็นวัสดุสำคัญ ต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคของคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ท ตั้งแต่ 1990 เป็นต้นมา และจะยังคงมีความสำคัญเพิ่มเป็นทวีคูณ สู่ยุค AI นี้
พี่อาร์ม ดร.นิธิ อัตถิ, Mat-E3, KU56, E60, ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าทีมวิจัย (Research Team Leader) และ ผู้จัดการโรงงาน (Fab Manager) ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center, TMEC) ที่เป็นศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการวิจัย ออกแบบและผลิต Microelectronics และ วัสดุเซมิคอนดักเตอร์ ของประเทศไทย
พี่อาร์ม ถือเป็นรุ่นบุกเบิก Mat-E รุ่น 3 ที่สมัยยังมีเพื่อนร่วมรุ่นเพียง 20 คน และในยุคนั้น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของคลื่นการปฏิวัติอุตสาหกรรม Digital transformation และวิชาเลือกในภาคฯตอนนั้นก็ยังไม่มีตัวเลือกด้านวัสดุอิเล็กทรอนิกส์มากนัก
แต่จากโอกาสการได้ไปดูงานที่ TMEC ตอนช่วงปีที่ 3 ที่ภาควิชาฯ ก็ทำให้พี่อาร์มประทับใจในเทคโนโลยีห้องสะอาด (Cleanroom) และอุปกรณ์เครื่องจักรในการ fabrication ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น จบปริญญาโท-เอก ด้าน Electronics and Applied Physics ที่ Tokyo Institute of Technology และกลับมาเป็น หัวหน้าทีมวิจัยและผู้จัดการโรงงาน ที่ TMEC ในปัจจุบัน
ลองไปเรียนรู้ สายงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ จากพี่อาร์มกันครับ
#########
#MatE_KU : สวัสดีครับ ช่วยแนะนำตัวเอง และตำแหน่งงานในปัจจุบัน ได้ไหมครับ
#พี่อาร์ม : ชื่อ ดร.นิธิ อัตถิ (อาร์ม) รุ่น Mat-E3, KU56, E60 ครับ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าทีมวิจัย (Research Team Leader) และ ผู้จัดการโรงงาน (Fab Manager) ของ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center, TMEC) ครับ
#MatE_KU : พี่อาร์ เริ่มสนใจในอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรครับ
#พี่อาร์ม : ผมเริ่มสนใจ Semiconductor ตั้งแต่ไปดูงานที่ทีเมค ในช่วงปีที่ 3 ของ ป ตรี ที่ภาควิชาวัสดุพาไป ก็ประทับใจในห้องสะอาด (Cleanroom) และเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องตั้งแต่นั้นมา
จึงอยากศึกษาด้าน Semiconductor ตั้งแต่มีโอกาสไปปฏิบัติงานในโครงการสหกิจศึกษารุ่นที่ 1 ที่ TMEC เป็นเวลา 7 เดือน จากนั้นจึงเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ TMEC/NECTEC/สวทช เพื่อทำงานในสายงานด้านนี้ โดยเป็น นักวิจัย ทีมนวัตกรรมพื้นผิววัสดุและอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิก สังกัดศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก่อนที่จะมาทำงานตำแหน่งปัจจุบันครับ
#MatE_KU : แล้วพี่อาร์มได้มีโอกาสไปเรียนต่อ โท-เอก ด้านเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรครับ
#พี่อาร์ม : ในระหว่างทำงาน ได้ศึกษาต่อ ปริญญาโท ด้าน Engineering Management ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน แล้วจากนั้น ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ไปศึกษาต่อ โท-เอก ด้าน Electronics and Applied Physics ที่ Tokyo Institute of Technology, ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 ปี
โดย หัวข้อวิทยานิพนธ์ ป.เอก ทำเกี่ยวกับ ชั้นฟิล์มฉนวน (Gate insulator) และ ชั้นโลหะขั้วเกต (Gate electrode) สำหรับทรานซิสเตอร์ FinFET ที่เทคโนโลยี 20 นาโนเมตร ครับ
หลังเรียนจบ ปี คศ. 2016 ก็กลับมาทำงานที่ TMEC ในตำแหน่ง นักวิจัย จากนั้น ปี คศ 2017 ได้เลื่อนเป็น หัวหน้าทีมวิจัย และในปี คศ. 2022 ได้รับผิดชอบเป็น ผู้จัดการโรงงาน (Plant manager) ของ TMEC ครับ
โดยในช่วง 20 กว่าปีที่ทำงานที่ TMEC ก็ได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ด้านเซมิคอนดักเตอร์และไมโครอิเล็กทรอนิสก์ อย่างต่อเนื่อง จากโอกาสการร่วมงานวิจัยกับสถาบันวิจัย ชั้นนำทั่วโลก ทั้งในประเทศ ญี่ปุ่น อังกฤษ สิงคโปร์ และเยอรมนี ครับ
#MatE_KU : ความรู้ที่ได้ใช้ในการทำงาน จากการเรียนที่ภาควิชาฯ มีอะไรบ้างครับ
#พี่อาร์ม : ได้ใช้ความรู้พื้นฐานด้านวัสดุศาสตร์ทั้งในส่วนของพอลิเมอร์ เซรามิกส์ โลหะ และเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงความรู้ด้าน Materials characterization และ Material selection ในการเลือกและพัฒนาวัสดุใหม่ๆ สำหรับการผลิตชิปคอมพิวเตอร์และเซนเซอร์ชนิดต่างๆ ครับ
#MatE_KU : ถ้าน้องๆสนใจสายงานด้านนี้ พี่อาร์ม แนะนำให้เตรียมพร้อมอย่างไรบ้างครับ
#พี่อาร์ม : พี่แนะนำ ให้น้องๆ ตั้งใจศึกษาวิชาพื้นฐาน เช่น Material science, Material characterization, Drawing, Material selection, และ Statistical รวมถึงการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ
ถ้ามีความสนใจที่อยากทำงานวิจัย เป็นนักวิจัย ต้องหมั่นหาความรู้ที่ทันสมัยเป็นปัจจุบันเพิ่มเติมจากสื่อต่างๆ รวมถึงบทความวิชาการต่างประเทศ และฝึกความคิดให้เป็นระบบ (Logic thinking)
และมีทัศนคติที่ดี มองความล้มเหลวให้เป็นแรงผลักดัน ไปสู่การค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ๆต่อไป และรวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ ต่างสาขาวิชา เพื่อให้เกิด Networking ในการทำงานร่วมกันแบบพหุศาสตร์ (Interdisciplinary) ต่อไปได้ครับ
########
ขอบคุณพี่อาร์ม สำหรับข้อมูลดีๆ เป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ที่สนใจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์กันนะครับ
จะเห็นได้ว่าเป็นสายงานที่เปิดโอกาสการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยชั้นนำต่างประเทศที่หลากหลาย เพราะเป็นเทรนด์การวิจัยด้านวัสดุล้ำสมัย ที่สำคัญต่อยุค Digital transformation นี้เป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ตั้งแต่พี่อาร์มจบไปตั้งแต่รุ่นสาม พี่อาร์มก็กลับมาช่วยภาควิชาฯ รับน้องๆ Mat-E ไปฝึกงานที่ TMEC มาหลายรุ่น และช่วยดูแลสอนน้องๆอย่างดีๆ รวมไปถึงร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ให้กับน้องๆหลายรุ่นอีกด้วย
แถมในปัจจุบัน พี่อาร์ม ยังสละเวลา เป็นคณะที่ปรึกษา ใน Industrial Advisory Board ให้กับภาควิชาฯ เพื่อแนะนำให้ข้อมูลความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ ภาควิชาฯ พัฒนาหลักสูตร ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ในช่วงนี้ ภาควิชาฯ ได้ร่วมเป็นคณะทำงานในการพัฒนา หลักสูตร Semiconductor Engineering Sandbox ในระดับประเทศ ก็ได้รับความอนุเคราะห์จาก TMEC ของพี่อาร์ม ในด้านการให้มุมมอง และสนับสนุนเชิงเทคนิคเป็นอย่างดี
หวังว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้รับน้องๆนิสิตใหม่ เข้ามาเรียนสาขา Semiconductor Engineer ที่เกษตรศาสตร์กันในไม่ช้านะครับ