ห่างหายไปนานจากช่วงวุ่นสัปดาห์สอบและเข้าสู่ช่วงภาคฤดูร้อน
เรายังมีอีกหลายสายอาชีพและประสบการณ์ทำงานของพี่ศิษย์เก่ามาเล่าอีกมากมายครับ
สัปดาห์นี้ เรามาทำความรู้จัก อีกหนึ่งสายงาน ที่มีพี่วิศวกรรมวัสดุเริ่มจบไปและสมัครทำงานกันเยอะขึ้น ได้แก่ อาชีพ “CAD Engineer”
พี่ตาล Mat-E15, E68, KU72, ปัจจุบัน ทำงาน CAD Engineer ณ. บริษัท NSK Aisa Pacific Technology Centre (Thailand) Co., Ltd.
สายงานด้าน CAD Engineer หรือที่ย่อมากจาก Computer-Aided Engineering (CAD)
CAD Engineer เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านการเขียนแบบทางวิศวกรรม (Engineering Drawing) ทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการเขียนแบบจากแบบกระดาษหรือแบบร่าง ให้เป็นแบบในเวอร์ชั่นไฟล์คอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะสามารถนำแบบที่เขียนขึ้น ส่งต่อไปยังสายการผลิตต่อไป ซึ่งก็มักจะตามต่อด้วย การวิเคราะห์เชิงวิศวกรรมชิ้นงานให้สามารถใช้งานได้จริงด้วยเครื่องมือ Computer-Aided Engineering (CAE) และการส่งต่อไปยังการผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต Computer-Aided Manufacturing (CAM)
อ่านจากสายงานแล้วแน่นอน ว่าตรงกับสายงานของสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมการผลิต หรือ วิศวกรรมอุตสาหการ แล้วทำไมวิศวกรรมวัสดุของเราไปทำงานในสายงานนี้ได้
ซึ่งๆจริงแล้ว สาขา “วิศวกรรมวัสดุ” ของเราก็ต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมหลายตัวในช่วงปี 1 และ 2 โดยเฉพาะวิชา Engineering Drawing, Solid Mechanics และ Mechanics of Materials ที่เป็นวิชาพื้นฐานสำคัญในงานด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรม
พี่ตาล กลับมาในวันที่คณะจัดให้หลายๆบริษัทมาทำการรับสมัครว่าที่บัณฑิตจบใหม่ที่คณะ ทางบริษัทพี่ตาลก็ส่งพี่ตาลมาโดยตรงเพื่อ recruit นิสิตวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ของเราเพิ่มขึ้น และแถมยังย้ำว่าให้เอาโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานมาที่ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุด้วย
พอได้เห็นโปสเตอร์รับในสายงาน CAD Engineer แล้วเห็นว่าทางบริษัทเพิ่ม วุฒิจบ “วิศวกรรมวัสดุ” เข้าอยู่ในหนึ่งของวุฒิที่รับ ก็ภูมิใจกับศิษย์เก่าของเราแบบพี่ตาลมากๆ ที่ได้ไปกรุยทางให้มีบริษัทที่เห็นได้ว่า วิศวกรรมวัสดุ ก็สามารถทำงานในสาย CAD Engineer ได้เช่นกัน
พี่ตาลเล่าว่าที่บริษัท ปัจจุบันมีศิษย์เก่าภาคเราทำงานอยู่ในแผนกนี้ 4 คนเลยทีเดียว (วิศวกร CAD Engineer ของบริษัทมีกันอยู่ 7-8 คน) เพราะทางบริษัทพบว่า ทักษะความรู้ทางการคัดเลือกวัสดุ สามารถใช้ประกอบในการช่วยลูกค้าออกแบบและเขียนแบบผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น
สามารถแนะนำลูกค้าหรือทีมออกแบบได้ ในระหว่างการเขียนแบบชิ้นส่วนแบบ custom-made ว่าวัสดุที่เลือกใช้แต่ละชนิดมีความแตกต่างและเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงทักษะด้านการวิเคราะห์ความวิบัติ (Failure Analysis) และการคัดเลือกกระบวนการผลิต (Materials Processing) ที่เหมาะสมเพื่อเสริมสมบัติที่ต้องการให้กับวัสดุ ที่เป็นวิชาแกนของสาขาวิศวกรรมวัสดุของเรา
เราลองไปติดตามอ่านรายละเอียดเกี่ยว วิศวกรรมวัสดุ ในสายงาน CAD Engineer กันต่อได้เลยครับ
########################
#Mat_E_KU : สวัสดีครับ พี่ตาล แนะนำสายงาน และความรับผิดชอบหลักๆ ให้น้องๆหน่อยได้ไหมครับ
#พี่ตาล : สวัสดีค่ะ พี่ทำงานตำแหน่ง CAD engineer บริษัท NSK Asia Pacific Technology Centre (Thailand) co. ltd รับผิดชอบงาน #ออกแบบ#เขียนแบบผลิตภัณฑ์ (Bearing)
โดยจะรับRequirementของลูกค้าจากเซลล์ มาตรวจสอบสเปค ออกแบบ/เลือก Bearing ให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของลูกค้า แล้วเขียนแบบ #Drawing ด้วยโปรแกรม CATIA ส่งให้โรงงานผลิต หรือประเมินราคา
#Mat_E_KU : พี่ตาล ทำงานที่นี่มานานหรือยังครับ และมีการเรียนรู้เตรียมพร้อมอย่างไรกับสายงานนี้
#พี่ตาล : ทำงานที่นี่มา 7 ปี 7 เดือน ตั้งแต่เรียนจบค่ะ ช่วง 1 ปีแรกได้ทำอยู่แผนก Industrial คือจะดูแลงาน After marketของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น เครื่องรีดเหล็ก เครื่องรีดกระดาษ กังหันลม มอเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
โดยหน้าที่คือจะต้องนำ Bearing มา #วิเคราะห์หาสาเหตุของความเสียหาย ซึ่ง #ได้ใช้ความรู้วัสดุโดยตรงเลย ต้องมีการทำทดสอบแบบ Non-destructive testing (NDT) และ Destructive testing (DT) นำชิ้นส่วนมาถ่ายรูป วัดขนาด กัดกรด ส่อง Scanning electron microscope (SEM)
หลังจากนั้นบริษัทได้ส่งไป #อบรมที่ญี่ปุ่น เพิ่ม 2 ปี ในแผนก design กับบริษัทแม่ที่ Fujisawa ค่ะ
#Mat_E_KU : ทักษะความรู้ที่เรียนด้านวิศวกรรมวัสดุ นำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างไรกับสายงานด้าน CAD Engineering บ้างครับ
#พี่ตาล : ปัจจุบัน งาน CAD design ที่ทำอยู่ก็ได้ใช้ความรู้วัสดุค่ะ เช่น สมบัติของวัสดุ ทั้งโลหะ พอลิเมอร์ และเซรามิกซ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่จะนำ Bearing ไปใช้งานนั้นมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวแปร อุณหภูมิ โหลด ความเร็ว กระแสไฟฟ้า เป็นต้น, การเพิ่มความแข็งให้กับโลหะ เช่น กระบวนการ hardening หรือ coating ต่างๆ, การวิเคราะห์ความวิบัติที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สภาวะการใช้งานแบบต่างๆ โดยเราจะมีหน้าที่ #วิเคราะห์ความเสี่ยง และ #ออกแบบเพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิด Failure เหล่านั้น
#Mat_E_KU : พี่ตาลแนะนำน้องๆที่สนใจสายงานนี้ ให้เตรียมพร้อมอย่างไรบ้างครับ
#พี่ตาล : ถ้าน้องๆ สนใจงานด้านนี้ นอกจากความรู้วัสดุ โดยเฉพาะโลหะวิทยา (Metallurgy) แล้ว ควรเตรียมความรู้เรื่องการอ่านแบบวิศวกรรม (Engineering drawing) หัดใช้งานโปรแกรมเขียนแบบ เช่น Auto CAD, SolidWork หรือ CATIA และควรมีทักษะในการประสานงาน+ภาษา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือญี่ปุ่น เพราะส่วนมากงานดีไซน์จะต้องทำงานกับTechnical center ของบริษัทแม่
#######################
ขอบคุณพี่ตาลมากครับ ที่เปิดโลกอีกสายงานที่น่าสนใจให้กับน้องๆ
จะเห็นว่า สายงานนี้ ไม่ใช่แค่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อเขียนแบบอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างถ่องแท้ ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ การผลิตที่เหมาะสม และการนำไปใช้งานว่าจะต้องเจอสถานการณ์สภาวะอย่างไร ความรู้ความเข้าใจ #กระบวนการผลิตและวัสดุแบบองค์รวม ที่ผสมผสานกับ #ทักษะการเขียนแบบทางวิศวกรรม จึงมีความลงตัว
เรียกได้ว่าสายงานสำคัญ ที่บริษัทยอมส่งให้ไปอบรมกับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นนานกว่า 2 ปี เพื่อให้ไปเรียนรู้ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตจากบริษัทแม่เชิงลึกยิ่งขึ้น
ตอนสมัยเรียน พี่ตาลมีความสนใจในงานเขียนแบบทางวิศวกรรม จึงตั้งใจเลือกทำงาน Senior Project ที่ต้องได้ใช้โปรแกรมเขียนแบบ เพื่อพัฒนาทักษะให้พร้อม ดังนั้น น้องๆก็ควรวางแผนสายงานที่สนใจให้ดี และใช้ช่วงเวลาที่เรียน ทำกิจกรรมและเรียนอบรม เพื่อพัฒนาทักษะให้พร้อม ตรงกับสายงานที่สนใจกันนะครับ