ส่งท้ายปี 2567 นี้ เราได้ พี่ยอร์ช Mat-E13 มาแชร์ประสบการณ์งานอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้น้องๆ Mat-E กัน ปัจจุบัน พี่ยอร์ช ทำงานตำแหน่ง Part Quality Project Leader, บริษัท Thai Honda Co., Ltd. ที่เป็นโรงงานผลิตมอเตอร์ไซต์ฮอนด้า
ตอนสมัยเรียน พี่ยอร์ช เลือกไปทำ สหกิจศึกษา (ฝึกงานระยะเวลา 4 เดือน) เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงาน โดยได้ไปฝึกงานที่ บริษัท Summit Autoseat Industry ที่เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนที่นั่งรถยนต์ ด้วยกระบวนการฉีดพลาสติกขึ้นรูป และกลับมาต่อยอดหัวข้อโปรเจคในด้านการฉีดพลาสติก สำหรับทำ Senior Project ปริญญาตรี ประสบการณ์ตรงต่อยอดไปกับสายยานยนต์กับงานปัจจุบันได้ดี
เราลองไปเรียนรู้สายงานสำหรับ วิศวกรวัสดุ ด้าน Part Quality Project ในอุตสาหกรรมยานยนต์ กับทางพี่ยอร์ชกันได้เลยครับ
#Mat_E_KU : รบกวนพี่ยอร์ชแนะนำตัวเองได้เลยครับ
#พี่ยอร์ช : สวัสดีครับ ชื่อ ยอร์ช Mat-E13, E66, KU70 นะครับ
ปัจจุบัน ทำงานบริษัท Thai Honda, Co., Ltd. ตำแหน่ง Part Quality Project Leader แผนก Part Quality New Model ฝ่าย Part Quality ครับ
#Mat_E_KU : ตำแหน่งงานที่ทำ รับผิดชอบงานด้านใดบ้างครับ
#พี่ยอร์ช : หน้าที่รับผิดชอบหลักๆของส่วนงานที่ทำ มีดังนี้ครับ
1. วางแผนการพัฒนาชิ้นส่วนรถรุ่นใหม่ (New Model) ที่ผลิตโดย Supplier ในแต่ละ Model ร่วมกับ ฝ่ายออกแบบ, ฝ่ายทดสอบคุณภาพทางวิศวกรรมรถสำเร็จรูป และรายงานผลปฏิบัติ และ รายงานปัญหาที่พบพร้อมแผนการแก้ไข ให้ทาง CIE (ผู้รับผิดชอบด้านคุณภาพสูงสุดของโรงงาน) ทำการอนุมัติในแต่ละ Event
2. แบ่งประเภทของรายการชิ้นส่วนรถรุ่นใหม่ในแต่ละ Model ให้ทีมช่างเทคนิค โดยจะแบ่งเป็น ทีมวัสดุพอลิเมอร์ (Polymer) , ทีม งานปั๊มและ Welding, ทีม Forging และ Die cast, ทีมชิ้นส่วนไฟฟ้า
3. ทำการรับ Drawing จากฝ่ายออกแบบเพื่อตรวจสอบการ ออกแบบกระบวนการผลิต และการประกันคุณภาพของ Supplier หลังจากนั้น ติดตาม การรายงานผลปฏิบัติ และรายงานปัญหาที่พบ พร้อมแผนการแก้ไข จากทีมช่างเทคนิค
4. ติดตามผลการตรวจสอบชิ้นส่วนรถรุ่นใหม่ที่ผลิตจาก Event Trial แบบ All point ใน Drawing จากทีมช่างเทคนิค และติดตามเอกสารการประกันคุณภาพ เพื่อจัดเก็บผลการตรวจสอบตามระบบ ISO
5. สรุปภาพรวมของชิ้นส่วนรถรุ่นใหม่ในแต่ละ Model เพื่อส่งมอบข้อมูล และ Training ให้ทีม Part Quality ฝั่ง Mass production รองรับการผลิตเพื่อส่งขายสู่ท้องตลาด
#Mat_E_KU : งานน่าสนใจมากเลยครับ ต้องประสานงานกับหลายส่วน และเชื่อมโยงกระบวนการผลิตและความรู้ในหลายส่วนเลย แบบได้ใช้ความรู้จากที่เรียนภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ อย่างไรบ้างครับ
#พี่ยอร์ช : รถมอเตอร์ไซต์ 1 คัน ประกอบจากชิ้นส่วนกว่า 500 รายการ ซึ่งมีทั้ง ชิ้นส่วนเหล็ก, อะลูมิเนียม, ทองแดง, พลาสติกเกรดต่างๆ , และ ยาง เป็นต้น
นิสิตที่จบจาก วิศวกรรมวัสดุ จึงเป็นกำลังสำคัญหลักในการควบคุมคุณภาพจาก Supplier ที่ผลิตชิ้นส่วน เนื่องจาก หลายเหตุผลดังนี้เลยครับ
– เข้าใจสมบัติของวัสดุแต่ละประเภท ส่งผลให้เข้าใจเหตุผลที่ฝ่ายออกแบบคัดเลือกวัสดุเพื่อใช้กับชิ้นส่วนต่างๆ (เช่นทำไม Gear เครื่องยนต์ เลือกใช้การขึ้นรูปโดย Forging แต่ Gear บางตำแหน่ง เลือกใช้การขึ้นรูปโดย Powder)
– เคยเรียนพื้นฐาน Process การผลิต และการขึ้นรูปของวัสดุแต่ละประเภท ส่งผลให้ เด็กวิศวะวัสดุได้เปรียบ เด็กวิศวะ ที่จบจากสาขาอื่นในการทำงานร่วมกับ Supplier (เพื่อนในฝ่ายจบวิศวะเครื่องกล เข้าโรงงานพลาสติก และโรงงานยางครั้งแรก จับต้นชนปลายไม่ถูก เริ่มจาก 0 ผิดจากผมที่เคยลองฉีด ที่รองแก้ว และปั๊มแผ่นยาง จากภาควิชาเรามาก่อนครับ)
#Mat_E_KU : ถ้าน้องๆสนใจสายงานด้านนี้ พี่ยอร์ชแนะนำให้น้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้างครับ
#พี่ยอร์ช : หลังจากเรียนทฤษฎีของวิศวกรรมวัสดุ แล้วให้หาเวลาว่าง ดู Youtube กระบวนการผลิต ขึ้นรูปวัสดุต่างๆ จะทำให้ได้เปรียบตอนสัมภาษณ์งาน และ ตอนเริ่มเข้าทำงาน ครับ
เช่น หากจะไปสายยานยนต์ ให้ลองดูคลิปดังนี้
– การขึ้นรูปยางรถยนต์/มอเตอร์ไซต์
– การขึ้นรูปชิ้นส่วนพลาสติกรถยนต์/มอเตอร์ไซต์
– การขึ้นรูป และการเชื่อมงานโครงสร้างรถยนต์/มอเตอร์ไซต์
– การผลิตสายไฟ และมอเตอร์
#Mat_E_KU : สุดท้ายนี้ พี่ยอร์ช มีอะไรจะแนะนำน้องๆ ไหมครับ
#พี่ยอร์ช : ความรู้ทางทฤษฎีของวิศวกรรมวัสดุ ที่อาจารย์ในภาคสอน เป็นข้อได้เปรียบ เด็กวิศวะสาขาอื่นๆ ในการวิเคราะห์ปัญหา ชิ้นส่วนตอนทำงาน ขอให้ตั้งใจเรียน เก็บเกี่ยวมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ เช่น
– ตอนที่ก้านสูบรถรุ่นใหม่ Honda มีปัญหาแตก มีผมคนเดียวใน Part Quality ที่เห็นวงคลื่นตรงรอยแตก เพราะเสียงอาจารย์จุ้ย (อ.ปฏิภาณ) ลอยเข้ามาในหัวว่า “Fatigue” จึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและสรุปส่งให้ฝ่ายออกแบบ แก้ไขปัญหา
– ตอนที่พลาสติก PP สวิตต์กุญแจพลากติก ยิง Bolt ประกอบแล้วแตกตำแหน่งเดิม จึงได้นำชิ้นงานมาส่องกล้องขยายเห็นรอยเส้นประสาน เสียงอาจารย์ป๊อก (อ.สมเจตน์) ก็ลอยเข้าหัวว่า “Weld line” จึงส่งข้อมูลให้ Supplier ปรับแม่พิมพ์, Gate และ Condition เพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง Weld line ให้ห่างจากจุดยิง Bolt ประกอบ
(เก่งมากเลยจำได้หมดทุกเม็ดในห้องเรียน)
ขอบคุณพี่ยอร์ชมากๆครับ สำหรับข้อมูลเชิงลึก อ่านบทสัมภาษณ์แล้วจำสำเนียงการพูดของพี่ยอร์ชได้เลยในสมัยเรียน
จริงอย่างที่พี่ยอร์ชแนะนำ ตลอดการเรียน พี่ยอร์ช จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ภาคฯให้ทั้งในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ การฝึกงานสหกิจ และการทำโปรเจคตีสิส ที่มอบเกร็ดความรู้ทางการผลิตและวัสดุ ที่สำคัญให้เยอะเลย ขึ้นอยู่ว่านิสิตจะเก็บเกี่ยวไปต่อยอดไหม
ดีใจที่ได้ทราบว่าพี่ยอร์ชได้นำความรู้จากภาควิชาฯ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในสายงานตนเองครับ
ขอบคุณพี่ยอร์ชอีกครั้งครับ