ประวัติภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จากการที่ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศว่าควรพัฒนาจากพื้นฐานของเทคโนโลยีประเภทต่างๆ ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่ประเทศไทยควรได้รับการพัฒนาคือ เทคโนโลยีด้านวัสดุ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์พื้นฐานหรือวิศวกรรมประยุกต์ทางวัสดุ จะสามารถส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันด้านอุตสาหกรรมต่างๆในระดับนานาชาติได้
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2533 คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.บุญสม สุวิชรัตน์ จึงได้จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมวัสดุขึ้น โดยได้พิจารณาทุนพัฒนาอาจารย์ด้านวิศวกรรมวัสดุจำนวน 6 ทุน ตามแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2534-2536 ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2538 คณบดี รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อทำการร่างหลักสูตรและได้เดินทางไปดูงานเสริมความรู้ด้านวิศวกรรมวัสดุที่มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ (UNSW) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้แก่ รศ.ศันสนีย์ สุภาภา รศ.พิภพ ลิลิตาภรณ์ และ ผศ.วิศิษฎ์ โล้เจริญรัตน์ หลังจากนั้นคณะกรรมการดำเนินงานได้กลับมาดูงานในประเทศไทยที่ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะกรรมการดำเนินงานได้ทำการร่างหลักสูตรในระดับปริญญาบัณฑิต ในระหว่างปี พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2539 เพื่อเปิดรับนิสิต
และในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2540 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น ซึ่งถือเป็นภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ ภาควิชาแรกที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยโดยสามารถรับนิสิตระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมวัสดุ รุ่นที่ 1 จำนวน 30 คน โดยที่ยังไม่แยกภาควิชาในขณะนั้น ใน พ.ศ. 2541 และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แต่งตั้ง รศ.พิภพ ลลิตาภรณ์ รักษาการหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ โดยมีสถานที่ตั้งชั่วคราวของภาควิชาฯและห้องปฏิบัติการอยู่ที่ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต (RDiPT) และได้ทะยอยจัดหาครุภัณฑ์ต่างๆ และจัดสร้างห้องปฏิบัติการด้านการศึกษาโครงสร้างจุลภาคพื้นฐาน และเครื่องมือวิเคราะห์ เช่น SEM XRD เมื่อแรกก่อตั้งภาควิชาฯ อาจารย์ประจำที่มีอยู่ได้ทะยอยลาศึกษาต่อ และทางภาควิชาฯได้รับอาจารย์เพิ่มเติมเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จนเมื่อปี พ.ศ. 2544 ภาควิชาฯได้ย้ายมาอยู่ที่ทำการชั้น 1 ถึง 3 ของอาคารชูชาติ กำภู โดยมีส่วนปฏิบัติการอยู่ในชั้นที่ 1 ในส่วนของชั้นที่ 2 ประกอบด้วยห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ ส่วนชั้นที่ 3 ประกอบด้วยห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องพักอาจารย์ และส่วนสำนักงานของภาควิชาฯ โดยพื้นที่ทั้งสามชั้นยังคงแบ่งใช้กับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์และในส่วนของคณาจารย์ ส่วนที่ลาศึกษาต่อก็ได้ทะยอยเดินทางกลับมาเป็นกำลังให้กับภาควิชาฯในการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเน้นทางด้านการตรวจสอบคุณลักษณะของวัสดุ (Materials Characterization)
ในปี พ.ศ. 2545 ผศ.วิศิษฎ์ โล้เจริญรัตน์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมวัสดุท่านแรก (สมัยที่ 1 พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2549) และนิสิตปริญญาบัณฑิตสาขาวิศวกรรมวัสดุ รุ่นที่ 1 จบการศึกษาและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
ภาควิชาฯได้รับคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวัสดุประเภทต่างๆ ไม่ว่าด้านวัสดุโลหะ เซรามิกส์ พอลิเมอร์ วัสดุประยุกต์ วัสดุฉลาด กระบวนการทางด้านวัสดุ จึงได้ขยายพัฒนาหลักสูตรไปในระดับปริญญามหาบัณฑิตและปริญญาดุษฎีบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2550 และในปี พ.ศ. 2553 ตามลำดับ ทั้งยังได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการต่างๆ เช่น การประชุมวิชาการด้านโลหวิทยาแห่งประเทศไทยครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ณ โรงแรมเซนจูรี่พาร์ค เป็นต้น
จวบจนถึงปัจจุบัน ภาควิชาฯมีคณาจารย์รวมทั้งสิ้น 20 ท่าน มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติในทุกสาขา และเป็นภาควิชาฯที่มีผลงานวิจัยต่อจำนวนอาจารย์เป็นอันดับสองของคณะฯ ซึ่งด้วยปริมาณและคุณภาพดังกล่าวถือได้ว่ามีคณาจารย์ครอบคลุมทุกด้านในทุกสาขาของวัสดุพื้นฐานและวัสดุประยุกต์ รวมถึงวัสดุชั้นสูงทุกประเภท มีงานวิจัยแบ่งเป็น 7 กลุ่มหลักๆดังต่อไปนี้
- Alternative Energy Research
- Industrial and Agricultural Waste Recycling
- Surface Treatment and Modification of Materials
- Advanced Materials
- Materials Processing and Development
- Corrosion / Failure Analysis
- Quality Management in Materials Industries
มีห้องปฏิบัติการหลักๆไม่ว่าจะเป็นด้านการวิเคราะห์คุณสมบัติของวัสดุ การสังเคราะห์และกระบวนการผลิตวัสดุอย่างครบครัน มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมวัสดุ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริการวิชาการของงานวิจัยออกสู่สังคมและภาคอุตสาหกรรม
คณาจารย์ภายในภาควิชาฯให้ความใกล้ชิดและดูแลทั้งการเรียน การศึกษาวิจัยของนิสิตด้วยความ เอาใจใส่ เป็นภาควิชาฯที่มีกิจกรรมสัมพันธ์และความอบอุ่นที่ดีมากแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ถึงแม้จะมีอายุเพียงสองทศวรรษ นิสิตที่จบการศึกษาออกไปก็ไปสร้างชื่อเสียงให้กับภาควิชาฯ หรือแม้แต่กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาควิชาฯ เช่น เป็นผู้ประกอบการ เป็นนักวิจัยวิจัยในบริษัทชั้นแนวหน้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นอาจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
สำหรับนิสิตหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ภาควิชาฯ ได้บรรจุรายวิชาทางด้านวิศวกรรม อุตสาหการไว้ในหลักสูตรเพื่อให้นิสิตสามารถสมัครขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ระดับภาคีวิศวกร เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ภาควิชาฯ ได้ดำเนินทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างบุคลากรให้กับสังคมมาโดยลำดับ โดยมีหัวหน้าภาควิชาฯที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ตามลำดับดังนี้
- ผศ.วิศิษฎ์ โล้เจริญรัตน์ (พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2553 พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2556)
- ผศ.ดร.ปฏิภาณ จุ้ยเจิม (พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2555)
- ผศ.ดร.สมเจตน์ พัชรพันธ์ (พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2558)
- รศ.ดร.สุรีรัตน์ ผลศิลป์ (พ.ศ.2558 – 2566)
- รศ.ดร.ราชธีร์ เตชไพศาลเจริญกิจ (พ.ศ.2566 – ปัจจุบัน)
โดยในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีแห่งการก่อตั้งภาควิชาฯ ภาควิชาฯได้จัดการดำเนินกิจกรรมโดยตลอดทั้งปี อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานครบรอบ 20 ปี ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ ซึ่งจัดแสดงตลอดทั้งปีที่สำนักงานบริเวณชั้น 2 และ ชั้น 3 ของภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ อาคารชูชาติ กำภู การจัดการประกวดแข่งขันผลงานนวัตกรรมวิศวกรรมวัสดุ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ the 10 th Thailand International Metallurgy conference2017 (TIMETC 10) ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม พ.ศ. 2560 ที่โรงแรม รามาดาพลาซ่า กรุงเทพ แม่น้ำริเวอร์ไซด์ การเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมวิชาการ the 4 th Packaging and Materials Innovation Symposium 2017 (PMIS 2017) ร่วมกับ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน พ.ศ. 2560 ณ ห้องประชุม 0410 อาคารชูชาติ กำภู
คณะวิศวกรรมศาสตร์ การเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The First Materials Research Society of Thailand (1 st MRS Thailand International Conference) โดยมีสมาคม วัสดุศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นแม่งานใหญ่ในการจัด ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ณ โรงแรมเอ็กเพรส จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากงานประชุมวิชาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในปีนี้ผลงานต่างๆที่ผ่านมาของบุคลากรและนิสิตของภาควิชาฯ ยังได้ร่วมจัดแสดงกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศอีกมากมาย โดยในวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่จะถึงนี้ภาควิชาฯ ก็จะได้มีการจัดงานคืนสู่เหย้าชาววิศวกรรมวัสดุ มก. ซึ่งจะเป็นการพบปะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันถึง 20 รุ่น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของรุ่นพี่สู่รุ่นน้องอย่างอบอุ่นในตลอดสองทศวรรษ
สำหรับการก้าวสู่ทศวรรษที่สามของภาควิชาฯ ซึ่งอยู่ในยุคของ Thailand 4.0 นั้น เริ่มต้นจากการพัฒนา การเรียนการสอนซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงจาก University-Centric เป็น Student-Centric and Cloud-Native app ภาควิชาฯ หวังจะได้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้นิสิตได้เข้าถึงสื่อการสอนในยุค 4th Platform Ambient Computing มีการพัฒนาสื่อการสอนให้ทันสมัย นิสิตสามารถเข้าถึงได้ทุกสถานที่ ห้อง lecqure อาจไม่ใช้สถานที่ที่จำเป็นอีกต่อไป แต่การมี Digital Transformations สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างง่ายดาย คณาจารย์ภายในภาควิชาฯต้องปรับตัวให้เป็นผู้สร้างแรงบันดานใจให้นิสิตมีความมุ่งมั่นในวิชาชีพของตัวเอง โดยเน้นการ coaching ภาควิชาฯ มีการปรับหลักสูตรเพิ่มเติมทักษะในการดำเนินชีวิตให้กับนิสิต มีความสามารถในการบูรณาการองค์ความรู้ของรายวิชาเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการนำไปแก้ปัญหา
ในด้านการมุ่งเน้นการวิจัยและบริการวิชาการก็ต้องตอบสนองสังคมไทย สังคมโลก ที่เป็นยุคของสังคมผู้สูงอายุ การประมวลผลของการสร้างความต้องการต่างๆ จากข้อมูลปริมาณมาก Digital Transformations Drivers ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์เคลื่อนที่ Big Data Internet of Things Cloud App / Social ล้วนมีวัสดุไม่มากก็น้อยเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพาหนะไร้คนขับ คอนเทคเลนที่สามารถวัดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ และเมื่ออุตสาหกรรมสร้างผลิตภัณฑ์หลักแล้ว ก็ย่อมมีผลิตภัณฑ์รอง หรือของเสียไม่มากก็น้อยตามมา องค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมวัสดุก็ยังคงพัฒนาควบคู่ไปกับการใช้วัตถุดิบให้น้อยลง ลดการสร้างผลิตภัณฑ์รองหรือของเสีย ปรับปรุงให้เครื่องมือสื่อสารถึงกันและกัน ไม่ว่าจะด้วย sensor หรือ IOT ซึ่งเน้นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์
ท้ายที่สุด ภาควิชาฯก็หวังที่จะหล่อหลอมบัณฑิตด้วยกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการและกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อให้มีทักษะในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนถ่ายไปดีหรือเร็วเท่าใด ก็มุ่งหวังให้บัณฑิตต้องมีทั้งคุณธรรมจริยธรรมในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร พัฒนาตนเองในสายงานวิจัย อาจารย์ วิชาการ หรือสร้างนวัตกรรม และสามารถมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการ ภาควิชาฯ จะสร้างบัณฑิตที่พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาตนเองตลอดไป